Translate

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โรคปริทันต์หรือรำมะนาด (Periodontitis) ภัยร้ายยกกำลัง 2

โรคปริทันต์หรือรำมะนาด (Periodontitis)



สุขภาพของช่องปากเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพร่างกายของบุคคลนั้น ๆ ถ้าเหงือกและฟันแข็งแรงดีก็จะมีระบบย่อยอาหารที่ดี สุขภาพด้านอื่น ๆ ก็จะดีดวย  แต่ถ้ามีฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมีการติดเชื้อในช่องปาก จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยโรคเบาหวานอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาสุขภาพของช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสของการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะตามมาได้ ในปัจจุบันจากการตรวจสุขภาพช่องปากพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องฟันผุและเหงือกอักเสบ ในทุกเพศ ทุกวัย และทุกช่วงอายุ ทำให้เห็นว่าคนไทยเรายังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสะอาดของเหงือกและฟันเท่าที่ควร




อาการของโรค

โรคเหงือกอักเสบ ทางการแพทย์เรียกว่าปริทันต์หรือรำมะนาด เป็นโรคในช่องปากที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด เกิดจากการสะสมของคราบอาหารต่าง ๆ และเชื้อแบคทีเรียที่ติดอยู่บนตัวฟันและบริเวณขอบเหงือก หรือเรียกว่า คราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของฟันผุและเหงือกอักเสบนั่นเอง เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป จุลินทรีย์จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟันทำให้ฟันผุเป็นรู หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แมงกินฟัน  นั่นเอง ถ้าทำความสะอาดฟันไม่ดี มีเศษอาหารติดอยู่ในรูฟัน เศษอาหารเหล่านั้นจะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตมากขึ้น และเข้าทำลายฟันที่เป็นรูให้ลึกยิ่งขึ้น จนทะลุเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดหนองที่ปลายรากฟันจะทำให้มีอาการปวดฟันมากร่วมกับเหงือกบวมด้วย และสารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบเกิดโรคปริทันต์ โดยเชื้อแบคทีเรียที่ติดอยู่ในซอกฟัน และร่องเหงือกเจริญเติบโตเข้าไปทำลายเหงือก ทำให้ขอบเหงือกอักเสบอ่อน ๆ มีเลือดออกขณะแปรงฟัน เหงือบวมแดง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น มีหนองออกจากร่องเหงือก ถ้าปล่อยปละละเลยไม่ทำความสะอาดให้ดีพอ คราบจุลินทรีย์ที่มีมากขึ้นจะลงไปใต้เหงือกทำให้เหงือกอักเสบมากขึ้น และมีคราบหินปูนเกาะฟันมากขึ้น ถ้าไม่เอาหินปูนออก เหงือกและกระดูกที่รองรับฟันจะเริ่มถูกทำลายไปเรื่อย ๆ ขอบเหงือกจะร่นลงไป ฟันเริ่มโยก และมีเลือดออกจากฟัน หากยังไม่ทำการรักษาอีก เหงือกและกระดูกที่รองรับฟันจะถูกทำลายจนเกือบหมด ฟันโยกอย่างเห็นได้ชัด มีเลือดและหนองไหลออกมาจากฟัน และมีกลิ่นปากรุนแรง การเกิดเหงือกอักเสบหรือปริทันต์มักจะเกิดเป็นทั่วทั้งปาก ต้องถอนฟันทิ้งทีละหลาย ๆ ซี่ แล้วใส่ฟันปลอมแทน ทำให้เสียบุคลิกภาพ และมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารอีกด้วย

การรักษา

การรักษาขึ้นอยู่กับอาการของโรคว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นเล็กน้อยฟันยังแน่นอยู่รักษาโดยการทำความสะอาดร่องปริทันต์หรือการขูดหินปูนนั่นเอง ในบางรายอาจทำการผ่าตัดเหงือกเพื่อลดความลึกของร่องเหงือกที่ร่นลงไป แต่ถ้าในบางรายตรวจพบว่าเหงือกและฟันถูกทำลายไปมากแล้วการรักษาคงจะต้องถอนฟันซี่นั้นออก สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาคือ ตัวผู้ป่วยเองจะต้องรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ แปรงสีฟันเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากในการทำความสะอาดเหงือกและฟัน ต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเราเอง คือ มีขนาดพอดีกับช่องปากของเรา ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป การแปรงฟันที่ถูกต้องควรแปรงวันละ 2 ครั้ง หลังจากตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน หากจะแปรงฟันหลังอาหารแต่ละมื้อด้วยก็จะดีมาก แต่ถ้าไม่สะดวกควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดแทน ในขณะที่ผู้ที่ใส่เหล็กดัดฟันหรือฟันปลอม จำเป็นที่จะต้องแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ เพราะเศษอาหารจะเข้าไปติดและค้างอยู่ตามซอกฟันได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมหรือเหล็กดัดฟันนั่นเอง

คำแนะนำสำหรับการขูดหินปูน
  1. ขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และรับการตรวจฟันอย่างละเอียด
  2. หลังจากขูดหินปูนเสร็จใหม่ ๆ อาจมีเลืดออกตามขอบเหงือกและจะค่อย ๆ หยุดไหลไปเอง การบ้วนปากด้วยน้ำบ่อย ๆ จะทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง
  3. ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์หลังจากขูดหินปูน อาจมีอาการระบมเหงือกและเสียวฟัน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เ็ย็นจัดหรือร้อนจัด และแปรงฟันให้สะอาดอย่างระมัดระวัง อาการจะค่อย ๆ หายไปเอง
ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณ
เรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น