Translate

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โรคเล็บขบ (Ingrown nail) ปวดจี๊ดถึงใจ

โรคเล็บขบ (Ingrown nail)


ถ้าพูดถึงเรื่องเล็บขบ หลายคนคงเคยมีสัมผัสประสบการณ์การเป็บเล็บขบกันมามากบ้างน้อยบ้างทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงปลายเท้าเรียวแหลม มีโอกาสเกิดเล็บขบได้มากทีเดียว รวมถึงผู้ที่ชอบเข้าร้านเสริมสวยทำเล็บ หากเจอร้านที่สะอาดก็ดีไป แต่ถ้าเข้าร้านที่ไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ทำเล็บ อาจจะได้โรคเล็บขบแถมมากับความสวยงามของเล็บด้วย  นอกจากนี้โครงสร้างของเล็บก็มีส่วนที่ทำให้เกิดเล็บขบได้เช่นเดียวกัน เล็บขบส่วนใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเล็บทั้งเล็บมือเล็บเท้า แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้งเท้าข้างซ้ายหรือข้างขวา หรืออาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน



อาการของเล็บขบ

เล็บขบ (Ingrown nail) เกิดจากการที่เล็บบริเวณด้านข้างงอกออกมาแล้วแทงเข้าไปในผิวหนังที่หุ้มเล็บ อาจเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างของล็บพร้อม ๆ กัน ทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณเล็บขบมาก จนไม่สามารถสวมใส่รองเท้าได้ และมักจะมีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย บวม แดง เป็นหนอง ตามมาอีกด้วย อาการของเล็บขบแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
  1. การอักเสบของเล็บขบแบบฉับพลัน (Acute paronychia) คือ มีหนองและน้ำเหลืองในบริเวณที่เป็นเล็บขบ
  2. การอักเสบของเล็บขบแบบเรื้อรัง (Chronic pronychia) คือ อาจมีอาการเพียงแค่บวม แดง บริเวณขอบเล็บ ไม่มีหนอง หรือน้ำเหลือง เป็น ๆ หาย ๆ
สาเหตุของการเกิดเล็บขบ
  • เกิดจากการใส่รองเท้าที่บีบรัดเท้าบริเวณนิ้วโป้งมากเกินไป ทำให้เนื้อที่อยู่บริเวณข้างเล็บถูกบีบเข้าหาเล็บ เมื่อเล็บงอกและปักเข้าไปในเนื้อข้างเล็บจึงเกิดการขบกันขึ้น
  • เกิดจากการตัดเล็บไม่ถูกวิธี คือ ตัดเล็บสั้นเกินไปและโค้งเข้าไปในเนื้อขอบเล็บ เมื่อเล็บงอกจึงแทงเข้าไปในเนื้อข้าง ๆ ขอบเล็บ
  • การโค้งและหนาตัวของเล็บตามอายุ
การดูแลรักษาเล็บขบ
  1. ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บเล็บโดยที่ยังไม่มีการอักเสบ(ติดเชื้อแบคทีเรีย) สามารถดูแลตนเองได้โดยการสวมใส่รองเท้าเปิดหัว และแช่เท้าในน้ำอุ่นวันละ 2-3 ครั้งจนเล็บนุ่ม จากนั้นใช้กรรไกรตัดเล็บที่สะอาดค่อย ๆ งัดเล็บส่วนที่ขบขึ้นแล้วตัดออก จากนั้นเช็ดทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์ และทาแผลด้วยยาปฏิชีวนะชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง
  2. ถ้าแผลเล็บขบติดเชื้อแบคทีเรีย คือ มีอาการปวด บวม แดง มีหนอง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาื รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนใด้ง่าย อีกทั้งผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ หรือผู้ืที่มีโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของระบบเลือดไม่ดี ควรพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บ เพราะแผลจะติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายและหายยาก
การรักษาทางการแพทย์  

การรักษาเล็บขบนั้นถ้าเป็นบ่อย ๆ หรือเป็นมาก อาจรักษาด้วยการถอดเล็บบางส่วนที่มีอาการเล็บขบออก ร่วมกับการทำลายบริเวณโคนเล็บที่ทำให้เล็บงอก เพราะถ้าหากเอาเล็บออกแล้วแต่ไม่ทำลายบริเวณโคนที่เป็นต้นกำเนิดเล็บ เมื่อเล็บงอกออกมาใหม่ก็จะมีอาการเล็บขบเช่นเดิมได้อีก หลังจากนั้นก็ดูแลทำความสะอาดแผล กินยาฏิชีวนะ กินยาแก้ปวด และใส่รองเท้าหัวเปิด หรือรองเท้าแตะจนกว่าแผลจะหาย

การป้องกัน

ทำได้โดยการตัดเ้ล็บให้ถูกวิธี ไม่ตัดเล็บในลักษณะที่เล็บโค้งลงไปในเนื้อด้านข้างของเล็บ ไม่ตัดเล็บลึกเกินไป และสวมใส่รองเท้าที่นุ่ม สบาย ไม่รัดนิ้วเท้าแน่นเกินไปโดยเฉพาะนิ้วโป้งที่แผล ร่วมกับการทายาปฏิชีวนะชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง

ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณ
เรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ

1 ความคิดเห็น: