การไอ (Cough) เป็นอาการตอบสนองตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายที่มีต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ มีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นกลไกป้องกันและกำจัดสารคัดหลั่ง สิ่งระคายเคือง สารแปลกปลอม และเชื้อโรค ออกจากทางเดินหายใจ หากมีอาการไอบ่อยครั้งอาจมีสาเหตุมาจากโรคบางอย่าง สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการไอมาจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก ได้แก่ การสำลัก การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน เสมหะไหลลงคอ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หัวใจล้มเหลว และยาบางชนิด เช่น ACE inhibitor การไอมากๆ ทำให้เสียบุคลิกภาพและสุขภาพจิต เนื่องจากอาจทำให้ผู้อื่นรำคาญหรือรังเกียจเพราะสามารถแพร่เชื้อโรคให้แก่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้อาการไอในบางครั้งยังรบกวนการรับประทานอาหารและการนอนหลับอีกด้วย ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูกพรุนการไอมากๆ อาจทำให้กระดูกซี่โครงหักได้ อีกทั้งยังอาจทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก เลือดไหลออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด เกิดอาการหอบเหนื่อยและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ในผู้ที่มีการผ่าตัดตาและหู เช่น การผ่าตัดต้อกระจก หากมีอาการไออาจทำให้เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่ไปในลูกตาหลุดออกได้ หรือการผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู การไอมากๆ อาจทำให้เยื่อแก้วหูเทียมที่ใส่ไว้เคลื่อนที่ออกมาได้
สาเหตุ
กลไกการเกิดอาการไอเริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ หรือมีสารระคายเคืองอยู่ในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง เริ่มตั้งแต่ช่องหูและเยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส โพรงหลังจมูก คอหอย ลงไปยังกล่องเสียง หลอดลม ปอด กระบังลม และเยื่อหุ้มปอดในที่สุด นอกจากนี้ยังพบตัวรับสัญญาณการไอที่เยื่อหุ้มหัวใจ และกระเพาะอาหารอีกด้วย โดยจะรับการกระตุ้นผ่านไปทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เป็นหลัก ไปยังศูนย์ควบคุมการไอ(cough center) ในสมองบริเวณเมดุลลา ซึ่งจะมีการควบคุมลงมายังกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กล่องเสียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบแคบเป็นสาเตุที่ทำให้เกิดอาการไอ
อาการ
- ไอฉับพลัน คือ เริ่มมีอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือหายใจเอาควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส และมลพิษทางอากาศอื่นๆ เข้าไปทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ
- ไอเรื้อรัง คือ มีอาการไอมากกว่า 3-8 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรังมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด โรคกรดไหลย้อน(GERD) การใช้เสียงมากจนทำให้เกิดเส้นเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ วัณโรคปอด รวมถึงได้รับยารักษาโรคความดันโลหิตสูงกลุ่ม ACE inhibitor ด้วย
- ถ้าไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือล่าง เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ และมีอาการไอไม่มากนัก การรักษาเบื้องต้นจะให้ยาบรรเทาอาการไอก่อน
- ในกรณีที่ไอมีเสมหะเหนียวข้นมาก ขับออกยาก การให้ยาละลายเสมหะจะทำให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้น บรรเทาอาการไอได้ดีกว่า แต่หากได้รับยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป
- หากมีอาการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว ควรใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
ข้อควรปฏิบัติขณะที่มีอาการไอ
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการไอมากขึ้น เช่น ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ และสารก่ออาการระคายเคืองต่างๆ
- ไม่อยู่ในที่ที่พัดลมหรือแอร์เป่าโดนตัวโดยตรง รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำเย็น น้ำแข็ง ไอศกรีม และอาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้หลอดลมมีการหดตัวทำให้ไอมากขึ้น
- ทำให้ร่างกายอบอุ่นเพียงพอขณะนอนหลับ คือ นอนห่มผ้า ใส่ถุงเท้า และเสื้อผ้าหนาๆ เพื่อป้องกันการสะบัดผ้าห่มหลุดขณะนอนหลับ
- ปิดปากและจมูกเวลาไอด้วยผ้าเช็ดหน้า
- ล้างมือทุกครั้งหลังใช้มือปิดปากเวลาไอ
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
- งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด อากาศที่เย็นมากๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงหรืออยู่ให้ห่างจากผู้ที่ไม่สบาย เพราะอาจได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เจ็บป่วยได้
- สมุนไพรบรรเทาอาการไอ
- สมุนไพรที่เคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดอาการระคายเคือง เช่น น้ำผึ้ง มะนาว มะขามป้อม
- สมุนไพรที่กดศูนย์ไอในสมอง เช่น ฝิ่น
- สมุนไพรขับเสมหะ
- สมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น เหง้าขิง ผลดีปลี ดอกกานพลู ผลพริกไทย ต้นกะเพรา
- สมุนไพรที่มีกรดอินทรีย์ซึ่งมีรสเปรี้ยว ได้แก่ เนื้อฝักมะขามแก่ น้ำมะนาว ผลมะขามป้อม ผลบ๊วย ผลมะนาวดอง
- สมุนไพรอื่นๆ ที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการไอ และมีกลไกการออกฤทธิ์อื่นๆ ได้แก่ ผลมะแว้งเครือ ผลมะแว้งต้น ใบเสนียด เมล็ดเพกาเป็นต้น
- มะแว้งต้น(Solanum indicum) หรือ มะแว้งเครือ(Solanum trilobatum) มีสารสำคัญที่เป็นตัวยา ได้แก่ อัลคาลอยด์ solasodine ในผู้ใหญ่ให้ใช้ผลแก่ที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นสีแดงจำนวน 10-20 ผล กินแก้ไอขับเสมหะ ส่วนในเด็กใช้จำนวน 2-3 ผลตำกวาดคอ
- มะขาม(Tamarindus indica) มีสารสำคัญในเนื้อฝักมะขามแก่ ได้แก่ tartaric acid บรรเทาอาการไอ โดยใช้เนื้อฝักแก่จิ้มเกลือรับประทาน หรือคั้นน้ำผสมเกลือจิบ
- มะนาว(Citrus aurantifolia) มีสารสำคัญที่เป็นตัวยา คือ citric acid โดยใช้น้ำคั้น 2-3 ช้อนโต๊ะผสมกับเกลือเล็กน้อยจิบบ่อยๆ
- มะขามป้อม(Phyllanthus emblica) ใช้เนื้อผลแก่ 2-3 ผล โขลกพอแหลกจิ้มเกลือเล็กน้อยอมหรือเคี้ยววันละ 3-4 ครั้ง สารสำคัญในมะขามป้อม ได้แก่ วิตามินซี
- เพกา(Oroxylum indicum) นำเมล็ดเพกา 1/2-1 กำมือ(ประมาณ 1.5-3 กรัม) ต้มในน้ำ 2 แก้ว(300 มล.) นาน 1 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง
- ขิง(Zingiber officinale) นำเหง้าขิงแก่มาฝนกับน้ำมะนาว หรือขิงแก่ตำผสมกับน้ำและเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ สารสำคัญในเหง้าขิงได้แก่น้ำมันหอมระเหย เช่น gingerol และ zingerone อย่างไรก็ตามควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ใชยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น wafarin หรือ ยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSADS) รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากเหง้าขิงอาจมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้
- ดีปลี(Piper longum) เป็นพืชสุนไพรที่มีรสชาติเผ็ดร้อน ผลดีปลีแห้ง 0.5-1 ผล ฝนกับน้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ บรรเทาอาการได้ สารสำคัญในดีปลี ได้แก่ beta-caryophyllene
ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณเรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น