1. อาการ
อาการของโรคนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเวลาที่สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ หรือเวลาที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในฤดูหนาวโรคภูมิแพ้จะแสดงอาการรุนแรงกว่าฤดูกาลอื่น ๆ เช่น ไอ จาม หอบหืด ปากบวม เยื่อบุตาอักเสบ ตาบวม ผื่นคัน ลมพิษ หรือเรียกว่าผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจเกิดจากการแพ้อาหารหรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ หรือแพ้หลายอย่างพร้อมกันก็ได้ โดยผู้ที่เป็นส่วนใหญ่มักจะมีภูมิคุ้มกันโรคไม่แข็งแรง มีอาการแพ้ง่าย ผิวหนังไวต่อสภาพแวดล้อมทั้งร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายเคืองผิวหนัง ผื่นแพ้ทางผิวหนังมีลักษณะผื่นเป็นวงแดง รูปร่างต่างๆ กัน คือ วงกลม วงรี หรือรูปร่างหยัก คล้ายมีแผนที่อยู่บนตัวผู้ป่วย เนื้อที่อยู่ภายในวงนูนขึ้นเล็กน้อย สีซีดกว่าส่วนขอบ คันมาก เกาตรงไหน ผื่นแดงขึ้นทันที ผื่นคันพวกลมพิษนี้มักจะเกิดอยู่นาน 3-4 ชั่วโมงแล้วจะหายไปเอง สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีกเรื่อย ๆ ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน เรียกว่า ลมพิษชนิดเฉียบพลัน แต่ถ้าเป็นในระยะเวลายาวนานกว่านี้เรียกว่า ลมพิษชนิดเรื้อรัง ถ้าผื่นเป็นมานานจนเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบลักษณะเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย เมื่อเป็นแผลที่ผิวหนังทำให้ติดเชื้อง่าย ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นตุ่มหนอง ติดเชื้อไวรัสจะเป็นหูด และหูดข้าวสุก ผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ พบบ่อยได้ในเด็กหากมีการติดเชื้อเหล่านี้ เมื่อเล่นด้วยกันหรือว่ายน้ำในสระเดียวกันอาจติดต่อกันได้ ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย เช่น ในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรกส่วนใหญ่จะพบผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณใบหน้าและศีรษะมากกว่าส่วนอื่น เนื่องจากเด็กเอาแก้มหรือศีรษะถูกไถกับหมอนและผ้าปูที่นอนเพราะคันมาก ในเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบพบมากบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่งที่มีการเสียดสี ยกเว้นในบุคคลที่มีอาการแพ้มากๆ ผื่นอาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย
2. สาเหตุ
โรคภูมิแพ้ผิวหนังไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคเฉพาะบุคคล แต่โรคนี้สามารถส่งผ่านทางพันธุกรรมได้ เรียกว่า กรรมพันธุ์ คือ ถ้าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานที่เกิดมาก็จะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้ที่ในครอบครัวไม่มีประวัติภูมิแพ้เลยก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกันเนื่องจากอาจมีความผิดปกติแฝงอยู่ในยีนของครอบครัวโดยที่ไม่แสดงอาการใดๆเลยก็ได้ โรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น โดยที่โรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว หรือเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจด้วยก็ได้ โรคผื่นแพ้ทางผิวหนังหรือลมพิษ มีสาเหตุมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบุคคลแพ้สิ่งใด เมื่อสิ่งที่แพ้สัมผัสกับผิวหนัง หรือถูกนำเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน การสูดดม การฉีด ฯลฯ จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นภายในร่างกาย เกิดการขับสาร ชื่อ ฮีสตามีน (สารแพ้) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้ผนังเส้นเลือดพองขยายตัวออก น้ำเหลืองและโปรตีนหลุดออกมา เกิดรอยนูนแดงและคันบนผิวหนัง สิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่- อาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล ถั่ว นม เนื้อสัตว์บางชนิด
- ขนสัตว์ เช่น ขนแมว ขนสุนัข
- พิษจากสัตว์ เช่น แมงกะพรุน บุ้งขน ผึ้ง มด ยุง ไรฝุ่น ไรไก่ หมัด
- พิษจากพืช เช่น หมามุ่ย ยางรัก ละอองเกสร
- สภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด อากาศร้อน อากาศเย็น ฝุ่นละออง ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่
- ยารักษาโรคบางชนิดที่รับประทาน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะมีการแพ้ไม่เหมือนกันทั้งชนิดของยา และอาการที่เป็น
- โรคบางชนิด เช่น ผิวแห้ง โรคสะเก็ดเงิน โรคเชื้อราที่ผิวหนัง โรคหิด โรคทางระบบอื่น ๆ เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะดีซ่าน โรคตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท อาการคันอาจพบได้ในโรคปลายประสาทอักเสบจากงูสวัด และเนื้องอกในสมอง
- สารเคมีบางชนิด ที่อยู่ในรูปของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ครีม โลชั่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน
- เครื่องประดับต่าง ๆ ที่ทำจากโลหะบางชนิด เช่น ตุ้มหู กระดุม หัวเข็มขัด
- หนังสัตว์ที่อยู่ในรูปของใช้ เช่น เข็มขัด สายนาฬิกา รองเท้า
- สภาวะทางจิตใจ ความวิตกกังวล ความเครียด
- หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวหนังในส่วนที่เกิดการแพ้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
- รับประทานยาแก้แพ้แก้คัน(Antihistamine) เพื่อลดอาการคัน
- ทายาเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง(Moisturizer) ในผู้ที่มีผิวแห้ง แพ้ง่าย
- ทายาลดอาการอักเสบ อาการคันผิวหนัง(Steroid) ถ้่าใช้ยาไม่ถูกต้องอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
- การใชยาปฏิชีวนะ(Antibacteria) ในผู้ที่มีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน คือ ผื่นแพ้กลายเป็นตุ่มหนอง
- การใช้ยาฆ่าเชื้อรา(Antifungal) ในผู้ที่มีภาวะติดเชื้อราที่ผิวหนังร่วมกับโรคผื่นแพ้ผิวหนัง
- การฉายแสงอาทิตย์เทียม(Phototherapy) ในผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบปกติ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไตวายเรื้อรัง โรคผื่นแพ้ผิวหนัง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงจากอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแบบเฉียบพลัน เช่น ร้อนจัด เย็นจัด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละออง ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่อาจระคายเคืองผิวหนัง เช่น ผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหยาบ ผ้าใยแก้ว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงจากพืชและสัตว์ที่ทำให้เกิดการแพ้
- รักษาโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการคัน
- ดูแลตนเองโดยการเลือกใช้สบู่อ่อนๆ ที่ให้ความชุ่มชื้น ไม่ระคายเคืองผิว
- หลังอาบน้ำควรทาโลชั่น หรือครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณเรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น