ปวดหลัง (Back pain) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ปัจจุบันพบมากขึ้นในช่วงวัยทำงาน ซึ่งหากปวดมากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้
โครงสร้างของหลัง
- กระดูกสันหลัง เป็นกระดูกแกนกลางที่สำคัญของร่างกายในการรองรับน้ำหนักตัว กระดูกสันหลังมีลักษณะเป็นปล้องๆ ตั้งแต่คอถึงเอว โดยจะเรียกตำแหน่งตามตัวเลข ดังนี้
- ส่วนคอ(cervical spine) ประกอบด้วยกระดูก 7 ชิ้น (เรียกว่า C1-C7)
- ส่วนอก(thoracic spine) ประกอบด้วยกระดูก 12 ชิ้น (เรียกว่า T1-T12)
- ส่วนเอว(lumber spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (เรียกว่า L1-L5) ซึ่งเป็นส่วนที่พบว่ามีอาการปวดบ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบน
- ส่วนกระเบนเหน็บ(sacral spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (เรียกว่า S1-S5) ซึ่งทั้งหมดจะรวมเป็นชิ้นเดียว เรียกว่ากระดูกก้นกบ ตำแหน่งที่กระดูกสันหลังแต่ละชิ้นเชื่อมต่อกันเรียกว่า ข้อต่อกระดูกสันหลังมี 2 ข้าง คือ ซ้ายและขวา ช่วยให้กระดูกสันหลังสามารถเคลื่อนไหวได้ และระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังคั่นอยู่ ซึ่งภายในหมอนรองกระดูกมีลักษณะคล้ายเจลลี่ ถ้าหากหมอนรองกระดูกมีการฉีกขาดและส่วนชั้นในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวดตามมาได้
- กล้ามเนื้อหลัง ยึดติดอยู่กับกระดูกสันหลัง โดยมีเส้นเอ็นยึดกระดูกแต่ละชิ้นไว้ด้วยกัน
- เส้นประสาทไขสันหลัง ในช่องโพรงกระดูกสันหลังจะมีเส้นประสาทไขสันหลังจำนวน 31 คู่ทำหน้าที่รับความรู้สึกและสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
- อายุ โดยทั่วไปอาการปวดหลังเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งในหนุ่มสาว วัยทำงาน และผู้สูงอายุ
- ขาดการออกกำลังกาย ในคนที่ไม่ได้ออกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง ไม่สามารถรองรับกระดูกสันหลังได้
- อ้วน น้ำหนักตัวที่มากเกินไปทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมาก เกิดความเสื่อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ไขมันที่พอกพูนบริเวณหน้าท้องอาจทำให้สมดุลของร่างกายเสียไป เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุได้
- โรคบา่งชนิด เช่น ข้ออักเสบ และเนื้องอกบางชนิด
- การทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องยกของหนัก ใช้แรงผลักหรือดึง ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังบิด รวมถึงผู้ที่ทำงานนั่งอยู่กับโต๊ะเป็นเวลานานโดยอิริยาบทไม่ถูกต้องก็อาจปวดหลังได้
อาการปวดหลังเกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรือโดยสภาพของกระดูกสันหลังเอง สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจาก
- ท่าทาง อิริยาบท การเคลื่อนไหวร่างกาย และการใช้งานหลังไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน เป็นสาเตุการปวดหลังที่พบได้บ่อยในวัยทำงานที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ (โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค) หากไม่ใส่ใจกับท่านั่งที่ถูกต้อง มักจะนั่งด้วยท่าทางแบบหลังงอ ห่อไหล่ และก้มคอเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ การยกของหนักโดยใช้การก้มหลัง น้ำหนักทั้งหมดจะผ่านไปที่กระดูกส่วนที่กำลังโค้งมากที่สุด
- การบาดเจ็บบริเวณหลัง จากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา เช่น รักบี้ ฟุตบอล หรือบาสเก็ตบอล มีการบาดเ็จ็บหรือการกระแทกอยู่เสมอ ส่งผลให้กระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็วขึ้น
- ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแต่กำเนิด กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังมีมากหรือน้อยผิดปกติ
- ภาวะของกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ เป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังได้มาก ซึ่งได้แก่
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
- โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ คือ ภาวะที่มีการแคบลงของกระดูกสันหลังเนื่องมาจากการหนาตัวของกระดูกสันหลังหรือเส้นเอ็นมากขึ้น ทำให้เส้นประสาทที่วิ่งอยู่ในโพรงกระดูกถูกบีบรัดจากกระดูกหรือเส้นเอ็นที่หนาตัวขึ้นจากการเสื่อมสภาพ
- กระดูกสันหลังเคลื่อน เมื่อกระดูกสันหลังเสื่อมและเสียความมั่นคงแข็งแรงไป อาจทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนได้ จนเกิดอาการปวดหลังเมื่อมีการขยับตัว และอาจมีอาการปวดร้าวลงขาได้เมื่อมีการกดทับเส้นประสาท
- โรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการปวดร้าวมาที่หลังได้ เช่น โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก โรคหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้อง หรือมะเร็งที่มีการกระจายตัวมายังบริเวณกระดูกสันหลัง
อาจมีอาการปวดเฉพาะที่หลังเพียงอย่างเดียว หรืออาจปวดร้าวลงมาที่สะโพกหรือขาด้วยก็ได้ อาการปวดขาจะปวดไปตามแนวเส้นประสาทของเส้นที่ถูกกดทับนั้น โดยแต่ละคนจะมีอาการปวดแตกต่างกัน บางคนปวดเหมือนโดนของแหลมทิ่มแทง ในขณะที่บางคนปวดหน่วงและหนักที่ขา ส่วนบางคนอาจรู้สึกเพียงแค่ชาเหมือนเวลาที่นั่งทับขานานๆ เท่านั้น อาการปวดหลังต้องใช้เวลากว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งอาจมีอาการเป็นเป็นสัญญาณเตือนให้รีบไปพบแพทย์ทันที คือ
- อาการปวดหลังที่เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน
- อาการปวดร้าวลงสโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า
- อาการปวดเฉียบพลันที่ไม่ทุเลาลงเมื่อได้นอนพัก หรือมีอาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
- อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บ
- อาการปวดร่วมกับ
- ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
- ขาอ่อนแรง
- ชาบริเวณขา เท้า หรือรอบทวารหนัก
- คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
- น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
การรักษาอาการปวดหลังเพื่อลดอาการปวดและให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันปกติได้ โดยที่การรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดหลัง และระยะเวลาที่เป็น โดยที่แพทย์จะหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน มุ่งเน้นการรักษาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการด้วยวิธีที่ทำให้เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยทั่วไปการรักษามีอยู่ 2 วิธีหลัก ได้แก่
- การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
- การรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การกินยา ทำกายภาพบำบัด และนอนพัก มักเป็นวิธีที่ใช้เริ่มต้นในการรักษา ยกเว้นกรณีที่ระบุว่าต้องการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ
- การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง เพื่อช่วยลดอาการปวดอักเสบ และช่วยในการหาตำแหน่งที่มีอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในผู้ที่รักษาแบบปะคับประคองแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน
- การรักษาโดยการผ่าตัด จะใช้การรักษานี้เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล วิธีการผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน และจุดประสงค์ในการผ่าตัดเป็นสำคัญ
Link: Back pain treatment and care
ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณเรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น