Translate

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

สิว (Acne)



สิว (Acne) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว อาจพบได้ในทารกแรกเกิด (acne neonatorum) หรือคนชรา (senile comedones) จากสถิติของสถาบันโรคผิวหนัง สิวเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์สูงเป็นอันดับที่ 2 ของผู้ป่วยทั้งหมด สิวจะปรากฏอาการในผู้หญิงช่วงอายุ 14-17 ปี และในผู้ชายช่วงอายุ 16-19 ปี ความรุนแรงของสิวจะมากขึ้น 3-5 ปี หลังจากเริ่มเป็นสิว และมักหายไปในช่วงอายุ 20-25 ปี ร้อยละ 85 ของผู้ที่เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง มีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรง




ลักษณะของสิว



ผู้ที่เป็นสิวมักมีหน้ามัน ซึ่งความมันบนใบหน้าสัมพันธ์กับความรุนแรงของสิว แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป สิวบนใบหน้ามีหลายรูปแบบ นอกจากสิวแล้วยังมีร่องรอยที่หลงเหลือของสิวให้เห็นเป็นรอยแดง รอยดำ รอยบุ๋ม หรือรอยนูนปรากฏให้เห็นด้วย การแบ่งแยกลักษณะต่างๆ ของสิวเพื่อบอกความรุนแรงของสิว เพื่อการรักษาและติดตามผลของการรักษาแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
  1. สิวไม่อักเสบ (non-inflammatory acne) แบ่งออกเป็น
    • สิวหัวเปิด / สิวหัวดำ (open or black head comedones) เป็นตุ่มนูนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 มม. มีจุดดำอยู่ตรงกลางซึ่งเกิดจากการขยายตัวของท่อไขมัน และมีสารสีดำอุดแน่นอยู่ภายใน สารนั้นประกอบด้วย เคอราติน ไขมัน และ P.acnes
    • สิวหัวปิด / สิวหัวขาว (closed or white head comedones) ซึ่งเห็นเป็นตุ่มนูนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 มม. สีเดียวกับผิวหนัง ท่อเปิดของต่อมไขมันที่ตุ่มเหล่านี้แทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และร้อยละ 75 ของสิวชนิดนี้จะกลายเป็นสิวอักเสบ
  2. สิวอักเสบ (inflammatory acne) แบ่งออกเป็น
    • Papules เป็นตุ่มนูนแดงแข็งมีขนาดแตกต่างกันออกไป ร้อยละ 50 ของสิวชนิดนี้เกิดจากสิวที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า(microcomedones) ร้อยละ 25 เกิดจากสิวหัวปิด และอีกร้อยละ 25 เกิดจากสิวหัวเปิด
    • Pustules (สิวหนองชนิดตื้นหรือลึก) ซึ่งมีได้หลายขนาด สิวหนองชนิดตื้นมักหายได้เร็วกว่าสิวชนิด papules ส่วนสิวหนองชนิดลึกจะมีอาการเจ็บร่วมด้วย และพบในผู้ที่เป็นสิวรุนแรง
    • Nodules สิวอักเสบแดงเป็นตุ่มนูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 8 มม.ขึ้นไป สิวชนิดนี้เมื่อหายไปอาจเกิดแผลเป็นตามมาได้
    • Cyst สิวขนาดใหญ่เป็นถุงใต้ผิวหนัง ภายในมีหนองหรือสารเหลวๆ คล้ายเนย หายแล้วมักมีแผลเป็นหลงเหลืออยู่ สิวชนิดนี้พบได้ไม่บ่อยนัก

รอยโรคที่หลงเหลือจากการเป็นสิว
  1. รอยสีน้ำตาลดำ (post inflammatory pigmentation) พบได้บ่อยในคนผิวคล้ำ และปรากฏให้เห็นนานหลายเดือนกว่าจะจางลงไป
  2. รอยแผลเป็นชนิดนูน (hypertrophic scar/keloid)
  3. รอยแผลเป็นชนิดบุ๋ม (ice-pick scar/depressed fibrotic scar)
รอยแผลเป็น 2 ชนิดหลังมักพบในผู้ที่เป็นสิวรุนแรง โดยรอยแผลเป็นชนิดนูนพบได้บ่อยที่บริเวณมุมของกรามล่างและที่ลำตัวช่วงบน

สาเหตุของการเกิดสิว

สิวเกิดจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน คือ
  • เกิดจากการหนาตัวของชั้น corneum (hypercornification) ที่ท่อของรูขุมขนซึ่งต่อมไขมันมาเปิดเชื่อมต่อ การหนาตัวเกิดจากการระคายเคืองจากไขมัน(sebum) จากต่อมไขมัน และการที่กรด linoleic ในไขมันมีปริมาณลดลง
  • Testosterone ในกระแสเลือดเปลี่ยนไปเป็น dihydrotestosterone ในเนื้อเยื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น และหลั่งไขมันออกมามากขึ้น เนื่องจากในต่อมไขมันมีส่วนประกอบของสาร free fatty acid, squalene และ squalene oxide ซึ่งเชื่อกันว่าสารเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวและการอักเสบที่ผิวหนัง มีรายงานว่าส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นสิวมีระดับ testosterone ในกระแสเลือดปกติแต่ dihydrotestosterone ในเนื้อเยื่อสูงกว่าปกติ
  • แบคทีเรีย ที่สำคัญ คือ Propionibacteriumu acnes (P.acnes) เชื้อตัวนี้ย่อยไขมันจากต่อมไขมันให้เป็น free fatty acid โดยอาศัย เอนไซม์ lipase นอกจากนั้น P.acnes ยังหลั่งเอนไซม์ protease, hyaluronidase และ low molecular weight chemotactic factor ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบขึ้น อย่างไรก็ตามปริมาณของ P.acnes ไม่ได้แปรเปลี่ยนตามความรุนแรงของการเกิดสิว
  • การตอบสนองของร่างกาย เป็นสาเหตุข้อหนึ่งในการเกิดสิว โดยพบว่าผู้ที่เป็นสิวอย่างรุนแรงจะมีปริมาณของแอนติบอดีต่อ P.acnes มากขึ้น
ปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดสิว
  • พันธุกรรม ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับการเป็นสิว แต่พบว่าในฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน แฝดที่เป็นสิวจะมีคู่แฝดเป็นสิวเช่นเดียวกันถึงร้อยละ 97.9 แต่ในแฝดไข่คนละใบมีเพียงร้อยละ 45.8 ของคู่แฝดที่เป็นสิวเช่นเดียวกัน
  • ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสตีรอยด์ ไอโอไดด์  หรือวิตามินบี 12 กระตุ้นให้เกิดสิวได้
  • เครื่องสำอาง สบู่ น้ำมันใส่ผม ก็ทำให้เกิดสิวได้(cosmetic acne, acne detergicans, pomade acne) เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ olive oil, white petrolatum หรือ lanolin สบู่ที่มีส่วนผสมของ tar, sulfer หรือยาปฏิชีวนะ เช่น hexachlorophene ซึ่งสารเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดสิวได้
  • Premenstrual acne มีรายงานว่าร้อยละ 60-70 ของผู้หญิงที่เป็นสิว จะมีสิวมากขึ้นใน 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่หลั่งออกมามากในช่วงนั้นทำให้มีการคั่งของน้ำในร่างกาย รูขุมขนบวมมากขึ้น การไหลผ่านของไขมันเป็นไปได้ไม่ดี สิวมักจะเห่อใน 2-3 วันต่อมา
  • ภาวะเครียด กระตุ้นให้เกิดสิวหรือไม่นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่มีบางรายที่กล่าวว่าสิวเห่อมากขึ้นในช่วงเครียดจากการสอบ
  • อาชีพและสิ่งแวดล้อม การทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น เหงื่อออกมาก ทำให้เกิดการบวมของท่อไขมันและเกิดสิวตามมาได้
ต่อมไขมันมีอยู่ทั่วๆ ไปตามผิวหนัง แต่พบได้มากที่สุดบริเวณใบหน้า หนังศรีษะ หน้าอก และหลัง ท่อเปิดของต่อมไขมันแต่ละต่อมจะเปิดสู่ผิวหนังภายนอกร่วมกับท่อเปิดของรูขุมขน สิวเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติของท่อเปิดนี้ โดยเกิดมีการหนาตัวของชั้น corneum (hypercornification) ซึ่งทำให้ท่ออุดตัน ถ้าการอุดตันนั้นยังมีทางเปิดสู่ผิวหนังภายนอกได้ก็จะพบลักษณะของสิวหัวเปิด(open or black head comedones) แต่ถ้ารูเปิดของท่อไขมันเล็กมากจนมองไม่เห็นเรียกว่าสิวหัวปิด(closed or white head comedones) เมื่อมีการอุดตันเพิ่มขึ้นไขมันจะสะสมอยู่ในท่อมากขึ้น เกิดการพองโตและแตก สารที่อยู่ภายในของต่อมไขมันกระจายไปสู่หนังกำพร้าและหนังแท้บริเวณใกล้เคียงทำให้เกิดสิวอักเสบขึ้น บางครั้งสิวอักเสบก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มีการแตกหรือทำลายของท่อไขมัน แต่เกิดจาก P.acnes ในต่อมไขมันหลั่งเอนไซม์ lipase เอนไซม์นี้ไปย่อยไขมันทำให้เกิดกรดไขมันอิสระซึมผ่านท่อต่อมไขมันไปสู่หนังแท้ใกล้เคียงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ถ้าการอักเสบอยู่ส่วนบนของผิงหนังจะทำให้เป็นตุ่มแดง(papule) และตุ่มหนอง(pustule) ถ้าการอักเสบอยู่ส่วนล่างของผิงหนังจะทำให้เป็นก้อนบวม(nodule) หรือถุงสิว(cyst)

การรักษา

ควรรักษาความสะอาดบนใบหน้าและผม นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดสิว เช่น การนวดหน้า ขัดหน้า เครื่องสำอางบางอย่าง หรือยาบางชนิด การรักษาสิวควรจะดูว่าเป็นสิวชนิดใด มีความรุนแรงมากหรือน้อย มีรอยแผลเป็นหรือไม่ หรือส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด ภาวะเหล่านี้จะเป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย โดยยารักษาสิวแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
  1. ยาทา ได้แก่ Comedolytic group และ Antibacterial
  2. ยารับประทาน ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ Retinoid และฮอร์โมน


ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณ
เรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น