Translate

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (ATOPIC DERMATITIS)




1. อาการ

อาการของโรคนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเวลาที่สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ หรือเวลาที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในฤดูหนาวโรคภูมิแพ้จะแสดงอาการรุนแรงกว่าฤดูกาลอื่น ๆ  เช่น ไอ จาม หอบหืด ปากบวม   เยื่อบุตาอักเสบ ตาบวม ผื่นคัน ลมพิษ หรือเรียกว่าผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจเกิดจากการแพ้อาหารหรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ หรือแพ้หลายอย่างพร้อมกันก็ได้ โดยผู้ที่เป็นส่วนใหญ่มักจะมีภูมิคุ้มกันโรคไม่แข็งแรง มีอาการแพ้ง่าย ผิวหนังไวต่อสภาพแวดล้อมทั้งร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายเคืองผิวหนัง  ผื่นแพ้ทางผิวหนังมีลักษณะผื่นเป็นวงแดง รูปร่างต่างๆ กัน คือ วงกลม วงรี หรือรูปร่างหยัก คล้ายมีแผนที่อยู่บนตัวผู้ป่วย เนื้อที่อยู่ภายในวงนูนขึ้นเล็กน้อย สีซีดกว่าส่วนขอบ คันมาก เกาตรงไหน ผื่นแดงขึ้นทันที ผื่นคันพวกลมพิษนี้มักจะเกิดอยู่นาน  3-4 ชั่วโมงแล้วจะหายไปเอง สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีกเรื่อย ๆ ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน เรียกว่า ลมพิษชนิดเฉียบพลัน แต่ถ้าเป็นในระยะเวลายาวนานกว่านี้เรียกว่า ลมพิษชนิดเรื้อรัง ถ้าผื่นเป็นมานานจนเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบลักษณะเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย  เมื่อเป็นแผลที่ผิวหนังทำให้ติดเชื้อง่าย ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นตุ่มหนอง ติดเชื้อไวรัสจะเป็นหูด และหูดข้าวสุก ผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ พบบ่อยได้ในเด็กหากมีการติดเชื้อเหล่านี้ เมื่อเล่นด้วยกันหรือว่ายน้ำในสระเดียวกันอาจติดต่อกันได้ ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย เช่น ในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรกส่วนใหญ่จะพบผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณใบหน้าและศีรษะมากกว่าส่วนอื่น เนื่องจากเด็กเอาแก้มหรือศีรษะถูกไถกับหมอนและผ้าปูที่นอนเพราะคันมาก ในเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบพบมากบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่งที่มีการเสียดสี ยกเว้นในบุคคลที่มีอาการแพ้มากๆ ผื่นอาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย



2. สาเหตุ
 
โรคภูมิแพ้ผิวหนังไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคเฉพาะบุคคล แต่โรคนี้สามารถส่งผ่านทางพันธุกรรมได้ เรียกว่า กรรมพันธุ์ คือ ถ้าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานที่เกิดมาก็จะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้ที่ในครอบครัวไม่มีประวัติภูมิแพ้เลยก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกันเนื่องจากอาจมีความผิดปกติแฝงอยู่ในยีนของครอบครัวโดยที่ไม่แสดงอาการใดๆเลยก็ได้ โรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น โดยที่โรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว หรือเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจด้วยก็ได้ โรคผื่นแพ้ทางผิวหนังหรือลมพิษ มีสาเหตุมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบุคคลแพ้สิ่งใด เมื่อสิ่งที่แพ้สัมผัสกับผิวหนัง หรือถูกนำเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน การสูดดม การฉีด ฯลฯ จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นภายในร่างกาย เกิดการขับสาร ชื่อ ฮีสตามีน (สารแพ้) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้ผนังเส้นเลือดพองขยายตัวออก น้ำเหลืองและโปรตีนหลุดออกมา เกิดรอยนูนแดงและคันบนผิวหนัง สิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่
  1. อาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล ถั่ว นม เนื้อสัตว์บางชนิด
  2. ขนสัตว์ เช่น ขนแมว ขนสุนัข
  3. พิษจากสัตว์ เช่น แมงกะพรุน บุ้งขน ผึ้ง มด ยุง ไรฝุ่น ไรไก่ หมัด
  4. พิษจากพืช เช่น หมามุ่ย ยางรัก ละอองเกสร
  5. สภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด อากาศร้อน อากาศเย็น ฝุ่นละออง ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่
  6. ยารักษาโรคบางชนิดที่รับประทาน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะมีการแพ้ไม่เหมือนกันทั้งชนิดของยา และอาการที่เป็น
  7. โรคบางชนิด เช่น ผิวแห้ง โรคสะเก็ดเงิน โรคเชื้อราที่ผิวหนัง โรคหิด โรคทางระบบอื่น ๆ เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะดีซ่าน โรคตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งเม็ดเลือด  โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท อาการคันอาจพบได้ในโรคปลายประสาทอักเสบจากงูสวัด และเนื้องอกในสมอง
  8. สารเคมีบางชนิด ที่อยู่ในรูปของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ครีม โลชั่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน
  9. เครื่องประดับต่าง ๆ ที่ทำจากโลหะบางชนิด เช่น ตุ้มหู กระดุม หัวเข็มขัด
  10. หนังสัตว์ที่อยู่ในรูปของใช้ เช่น เข็มขัด สายนาฬิกา รองเท้า
  11. สภาวะทางจิตใจ ความวิตกกังวล ความเครียด
3. การรักษา










  • หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวหนังในส่วนที่เกิดการแพ้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
  • รับประทานยาแก้แพ้แก้คัน(Antihistamine) เพื่อลดอาการคัน
  • ทายาเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง(Moisturizer) ในผู้ที่มีผิวแห้ง แพ้ง่าย
  • ทายาลดอาการอักเสบ อาการคันผิวหนัง(Steroid) ถ้่าใช้ยาไม่ถูกต้องอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
  •  การใชยาปฏิชีวนะ(Antibacteria) ในผู้ที่มีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน คือ ผื่นแพ้กลายเป็นตุ่มหนอง
  • การใช้ยาฆ่าเชื้อรา(Antifungal) ในผู้ที่มีภาวะติดเชื้อราที่ผิวหนังร่วมกับโรคผื่นแพ้ผิวหนัง
  • การฉายแสงอาทิตย์เทียม(Phototherapy) ในผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบปกติ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไตวายเรื้อรัง โรคผื่นแพ้ผิวหนัง เป็นต้น
4. การป้องกัน
  • หลีกเลี่ยงจากอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแบบเฉียบพลัน เช่น ร้อนจัด เย็นจัด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละออง ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่อาจระคายเคืองผิวหนัง เช่น ผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหยาบ ผ้าใยแก้ว เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงจากพืชและสัตว์ที่ทำให้เกิดการแพ้
  • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการคัน
  • ดูแลตนเองโดยการเลือกใช้สบู่อ่อนๆ ที่ให้ความชุ่มชื้น ไม่ระคายเคืองผิว
  • หลังอาบน้ำควรทาโลชั่น หรือครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณ
เรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น