Translate

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โรคกรดไหลย้อน (Gastro-Esophageal Reflux Disease; GERD)



โรคกรดไหลย้อน (GERD) เป็นสภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ระคายเคืองบริเวณลำคอ มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อยขึ้นมาทางปาก สภาวะกรดไหลย้อนนี้หากเป็นเรื้อรังอาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ มีเลือดออกจากหลอดอาหาร และอาจทำให้หลอดอาหารตีบได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นกลายเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารได้ โดยที่โรคกรดไหลย้อนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน



สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
  1. หลอดอาหารส่วนปลายเสื่อมลงหรือทำงานบกพร่อง มีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารจนทำให้มีการระคายเคือง อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือตลอดเวลาก็ได้ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุรี่ หรือยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางชนิด ก็เป็นได้
  2. ความดันหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดต่ำลงกว่าปกติ ไม่สามารถต้านแรงดันในช่องท้องและการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้
  3. กระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ ทำให้อาหารที่รับประทานไหลลงช้า หรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น  โดยมีอาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
  4. โรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกระบังลม ซึ่งทำให้กระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก เปิดโอกาสให้เกิดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น
  5. ปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ เช่น พฤติกรรมการบริโภคและการปฏิบัติตน ได้แก่ การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด อาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การนอนหรือเอนกายทันทีหลังรับประทานอาหาร ความเครียด ตลอดจนการสวมเสื้อผ้่าคับหรือรัดเข็มขัดแน่น
อาการ

อาการของโรคกรดไหลย้อนขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น
  1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
    • กลืนลำบาก ติดๆ ขัดๆ คล้ายมีก้อนอยู่ในลำคอ หรือกลืนเจ็บ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ
    • เจ็บคอ มีเสมหะอยู่ในลำคอ โดยเฉพาะในตอนเช้าหรือระคายคอตลอดเวลา
    • ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลินปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ มีอาการมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก โน้มตัวไปข้างหน้า ยกของหนัก หรือนอนหงาย
    • ท้องอืด เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือลำคอ เป็นผลให้หลอดอาหารอักเสบ มีเลือดออกจากหลอดอาหารได้
    • รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในลำคอและปาก
    • ในเด็กเล็กอาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง เป็นหืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางคนอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้
  2. อาการนอกระบบหลอดอาหาร
    • มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันฝุได้
    • เป็นหวัดเรื้อรัง
    • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะในตอนเช้า หรือเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม
    • ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักน้ำลายหรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืนจนอาจทำให้ต้องตื่นตอนดึก
    • ในคนที่เป็นหอบหืดอาการแย่ลงกว่าเดิมหรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา เจ็บหน้าอก ปอดอักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ
การรักษา
  1. การรักษาที่ตัวผู้ป่วยเอง
    • ในแต่ละมื้อไม่ควรรับประทาอาหารมากเกินไป
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด และอาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด
    • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
    • ไม่เอนกายลงนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรเว้นช่วงอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
    • รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
    • พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียด
    • สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย และไม่รัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป
  2. การรักษาด้วยยา
    • ในกนณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตใหม่แล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องมีการใช้ยารักษาร่วมด้วย ควรรับประทานยาตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  3. การรักษาด้วยการผ่าตัด
    • ในกรณีที่การใช้ยารักษาไม่ได้ผล แพ้ยาที่ใช้ในการรักษา หรือมีภาวะอื่นแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบ มีแผลและเลือดออกในหลอดอาหาร หลอดอาหารตีบตน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ภายในหลอดอาหารอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด
Link: Diagnosis and Management of Gastroesophageal Reflux

Link: Guideline for treatment of gastroesophageal reflux disease

Link: Diagnosis and Treatment of Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) 

ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณ
เรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น