Translate

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การดูแลเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)




เท้าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีความสำคัญมาก เพราะเท้าทำให้เราสามารถไปยังสถานที่ต่างๆ ที่เราต้องการได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ส่วนใหญ่เรามักลืมหรือละเลยที่จะดูแลเท้าของตัวเองจนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีปัญหาหลอดเลือดและปลายประสาทเสื่อม หากเกิดบาดแผลขึ้นที่เท้าแล้วดูแลไม่ถูกวิธี อาจเป็นสาเหตุทำให้ต้องสูญเสียเท้าได้




การดูแลเท้า
  1. ล้างเท้า
    • หมั่นล้างเท้าให้สะอาดอยู่ทุกวันหลังอาบน้ำเช้า-เย็น
    • เช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่ม โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า
    • การหมั่นล้างทำความสะอาดเท้าจะช่วยป้องกันการอับชื้นซึ่งอาจจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลามได้
    • ล้างเท้าด้วยสบู่อ่อนๆ และน้ำเสมอ และใส่ใจกับการล้างซอกนิ้วเท้า
  2. ตรวจเท้า
    • ควรตรวจเท้าด้วยตัวเองทุกวันเพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น ตาปลา หนังหนาๆ ตุ่มพุพอง รอยแตกของผิวหนัง แผลอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน จับผิวดูร้อนๆ ผิวคล้ำหรือซีดผิดปกติ เล็บขบ
    • ควรตรวจนิ้วเท้า ซอกนิ้วเท้า ส่วนบริเวณที่ยากต่อการดู เช่น ส้นเท้า ฝ่าเท้า อาจใช้กระจกช่วยได้
    • ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจด้วยตัวเองได้ควรให้ญาติช่วยดูให้
    • ไม่ควรตัดตาปลาหรือหนังหนาๆ ด้วยตัวเอง
    • เมื่อพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  3. ทาโลชั่นเท้า
    • ในกรณีที่ผิวแห้งอาจทำให้มีรอยแตกและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรทาโลชั่นเพื่อให้ผิวชุมชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น
    • การทาโลชั่นควรหยดบนฝ่ามือแล้วจึงลูบที่เท้า
    • หลีกเลี่ยงการทาโลชั่นบริเวณซอกนิ้วเท้า เพื่อป้องกันการหมักหมมซึ่งทำให้เกิดเชื้อราได้
    • ถ้าผิวหนังชื้นมีเหงื่อออกง่าย แนะนำให้เช็ดเท้าให้แห้งและทาแป้งให้ทั่วจะช่วยลดการอับชื้นได้
  4. สวมถุงเท้า
    • ควรสวมถุงเท้าหรือถุงน่องทุกครั้งเมื่อสวมรองเท้า
    • ถุงเท้าที่เลือกควรทำจากใยฝ้ายที่หนาพอสมควรและนิ่ม จะดีกว่าที่ทำจากไนลอน เนื่องจากใยฝ้ายจะช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้น ลดการอับชื้นของเืท้าได้
    • ควรเปลี่ยนถุงเท้าหรือถุงน่องทุกวันไม่ควรใส่ซ้ำ เพื่อไม่ให้หมักหมมเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
    • หลีกเลี่ยงการสวมถุงท้าหรือถุงน่องที่รัดแน่นจนเกินไป
  5. สวมรองเท้า ไม่เดินเท้าเปล่า
    • ควรสวมรองเท้าตลอดเวลาทั้งในบ้านและนอกบ้าน ห้ามเดินเท้าเปล่า
    • สวมรองเท้าที่เหมาะกับเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป ช่วยลดแรงกดในฝ่าเท้าได้ดี โดยเฉพาะรองเท้าที่มีแผ่นรองรับแรงกระแทกภายใน เช่น รองเท้ากีฬา
    • ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่ายหรือเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้คับจนเกินไป
    • ควรเป็นรองเท้าหนังนิ่มๆ หุ้มส้น พื้นด้านในนิ่มและส้นไม่สูง
    • ก่อนสวมรองเท้าทุกครั้ง ควรสำรวจดูสิ่งแปลกปลอมด้านในก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดแผล
    • เมื่อซื้อรองเท้าคู่ใหม่ควรสวมไม่เกิน 2 ชั่วโมงแล้วเปลี่ยนเป็นคู่เก่าสลับกันภายใน 2 สัปดาห์แรก เพื่อป้องกันรองเท้ากัด
    • คอยสังเกตรอยแตกหรือตุ่มพองทุกครั้งหลังใส่รองเท้าใหม่
    • เมื่อจะสวมรองเท้าก็ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ เพื่อลดการเกิดแผลจากรองเท้ากัด และยังช่วยลดแรงกดในฝ่าเท้าลงได้
    • หลังจากเดินเป็นเวลานาน ควรถอดรองเท้าออกตรวจสภาพเท้าทุกครั้ง
  6. ไม่แช่เท้าในน้ำ
    • หลีกเลี่ยงการแช่เท้าไม่ว่าจะเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา เพื่อไม่ให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ยง่าย
    • พึงระวัง! ในรายที่มีมือและเท้าชา การแช่น้ำอุ่นหรือร้อนจัดเกินไปเพราะเท้าของผู้ป่วยไม่มีความรู้สึก จึงอาจถูกน้ำร้อนมากจนลวกเท้าและจะทำให้เกิดการพุพองเป็นแผลติดเชื้อได้
  7. การล้างทำความสะอาดแผล
    • เมื่อมีบาดแผลเล็กน้อย ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วหรือน้ำเกลือล้างแผล แล้วตามด้วยน้ำยาโพวิดีนหรือเบตาดีน
    • หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
    • การทำแผลให้สะอาดถูกวิธี ร่วมกับการลดแรงกดบริเวณแผลจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
    • ถ้าแผลเริ่มมีการอักเสบ คือ ปวด บวม แดง จับดูร้อนๆ มีหนอง หรือ แผลใหญ่มาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ อย่ารักษาเอง
  8. การตัดเล็บ
    • การตัดเล็บที่ถูกวิธีร่วมกับการสวมรองเท้าที่เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดเล็บขบ และแผลที่เท้าได้
    • ควรตัดเล็บหลังจากอาบน้ำเสร็จ เพื่อช่วยให้เล็บนิ่มขึ้นและตัดง่าย
    • หลีกเลี่ยงการแช่เท้าก่อนตัดเล็บเพื่อป้องกันผิวหนังรอบเล็บเปื่อย และอาจเกิดแผลขณะตัดเล็บได้
    • กรณีมีเล็บขบ ตาปลา หรือหนังเท้าหนาๆ ควรหลีกเลี่ยงการตัดหรือซื้อยามาทาเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยงชาญด้านเท้า
    • ถ้าไม่สามารถตัดเล็บด้วยตัวเองได้ เช่น อาจมีปัญหาทางสาตา มองไม่ชัด อาจให้ญาติช่วยตัดให้ เพื่อป้องกันการเกิดแผล หรือปรึกษาแพทย์ พยาบาล เพื่อรับคำแนะนำ
    • ควรตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรง ปลายเล็บเสมอนิ้ว ไม่ตัดเล็บในแนวโค้ง ลึกเกินไปหรือสั้นเกินไป
    • ห้ามตัดเนื้อข้างเล็บ เพราะอาจทำให้เกิดแผล
  9. บริหารเท้า
    • การบริหารเท้าเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดที่เท้าดีขึ้น
    • เพิ่มขนาดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในฝ่าเท้า ซึ่งจะช่วยลดแรงกดกระแทกของฝ่าเท้าขณะเดิน และป้องกันการผิดรูปและโก่งงอของเท้า
  10. หยุดสูบบุหรี่
    • การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดเส้นเลือดตีบตัน และการสูญเสียเท้า
การเลือกซื้อรองเท้า
  1. ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย เพราะเป็นเวลาที่เท้าขยายตัวมากที่สุด
  2. รองเท้าที่ดีควรลดแรงกดที่ฝ่าเท้า รวมทั้งลดแรงกระแทกต่างๆ ได้ดี มั่นคง แข็งแรง
  3. ควรจะมีขนาดพอๆ กับทั้งขนาดและรูปร่างของเท้าไม่คับหรือหลวมจนเกินไป
  4. ขณะเลือกซื้อรองเท้าควรยืน แล้วใช้ดินสอวาดขอบเขตของเท้าตนเองลงบนกระดาษก่อนจะนำไปเทียบกับรองเท้าที่จะซื้อ แทนที่จะใช้วิธีทดลองสวมรองเท้าเพียงอย่างเดียว
  5. ขนาดความยาวของรองเท้าขณะยืนควรจะยาวกว่านิ้วเท้าที่ยาวที่สุดประมาณครึ่งนิ้ว
  6. ส่วนที่กว้างของรองเท้าควรจะอยู่บริเวณปุ่มกระดูกด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้า(โคนของนิ้วเท้า)
  7. ส่วนหัวของรองเท้าควรจะมีลักษณะป้านสูงพอประมาณ เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วเท้าและหลังเท้าเสียดสีกัน
  8. ควรเลือกรองเท้าที่มีแผ่นรองรับแรงกระแทกภายใน เช่น รองเท้ากีฬาควรเป็นชนิดที่มีเชือกผูก เพื่อปรับได้ง่าย เวลาเท้าขยายตัว
  9. ควรเป็นรองเท้าหนังหรือรองเท้ากีฬาจะมีการระบายอากาศได้ดีกว่ารองเท้าพลาสติก
รองเท้าแบบไหนเหมาะสมกับคุณ

การเลือกซื้อรองเท้ากีฬามาใส่นั้นควรใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการเท้าชาเพียงอย่างเดียว ถ้ามีปัญหาอื่นร่วมด้วยควรปฏิบัิติดังนี้
  • ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวหรือมีเท้าผิดรูป  ควรใช้รองเท้าชนิดกว้างและส้นเตี้ยเพื่อจะได้มั่นคง และควรใช้อุปกรณ์เพื่อการทรงตังร่วมด้วย เช่น ไม้เท้า
  • ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปเท้า อาจใช้แผ่นรองฝ่าเท้าเสริมภายใน โดยใส่ในรองเท้าที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมประมาณ 1 เบอร์ หรือบางรายถ้าผิดรูปมาก เช่น ผู้ป่วยที่ถูกตัดปลายเท้าออก นิ้วเท้าหงิกงอจิกลง ปุ่มกระดูกงอกโปนออกมาด้านข้างเท้า หรือผู้ที่เคยเป็นแผลมาก่ีอนจะมีแรงกดบนฝ่าเท้าสูงกว่าปกติ หลังจากวัดด้วยเครื่องวัดแรงกดในฝ่าเท้าแล้ว อาจต้องตัดรองเท้าขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับความผิดรูปของเท้านั้นๆ
การบริหารเท้า

ประโยชน์ของการบริหารเท้า คือ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ป้องกันข้อต่อยึติด หรือเอ็นหดรั้ง ก่อนการบริหารเท้าควรมีการยืดกล้ามเนื้อก่อน ทำได้โดย
  1. นั่งเหยียดปลายเท้า กระดกปลายเท้าขึ้นจนรู้สึกน่องตึง
  2. ยืน ก้าวขาใดขาหนึ่งไปข้างหน้า เข่าหน้าย่อลง เข่าหลังเหยียดตรง ส้นเท้าหลังติดพื้น หลังตรง
การยืดกล้ามเนื้อควรเกร็งค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที ทำประมาณ 3-5 ครั้งต่อ 1 ท่า

วิธีออกกำลัง
  1. นั่งเก้าอี้ วางท้าบนพื้น
    • เขย่งปลายเท้าขึ้น-ลง
    • กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง
    • หมุนฝ่าเท้าเข้าด้านใน เหยียดปลายเท้าลง สลับกับ หมุนฝ่าเท้าออกด้านนอก กระดกข้อเท้าสูงขึ้น
    • หมุนข้อเท้าในลักษณะตามเข็มนาฬิกา สลับทวนเข็มนาฬิกา
    • กาง-หุบนิ้วเท้า
    • งอ-เหยียดนิ้วเท้า
  2. นั่งฝ่าเท้าหันเข้าหากันทั้ง 2 ข้าง
    • ยกส้นเท้าขึ้นสลับกับยกปลายเท้าขึ้นสูง
  3. นั่งเก้าอี้
    • มีลูกบอลวางระหว่างปลายเท้า กลิ้งลูกบอลไปมาจากส้นเท้า-ปลายเท้า
    • วางของชิ้นเล็กๆ ไว้ข้างหนึ่งของเท้า ใช้เท้าหยิบของไปวางที่เท้าอีกข้างหนึ่ง ทำสลับกันระหว่างเท้า 2 ข้าง
จำนวนครั้งในการบริหารประมาณ 15-20 ครั้ง(เพิ่มหรือลดได้ตามควา่มสามารถของผู้ออกกำลัง)

ข้อควรระวัง
  • หยุดพักเมื่อมีอาการล้า
  • หยุดทันทีเมื่อมีอาการเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อ

ท่านสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับยาได้ที่
FACEBOOK: พึ่งพรเภสัช ร้านยาของครอบครัวคุณ
เรามีทีมงานเภสัชกรมืออาชีพ ให้คำปรึกษาแก่ท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ จะ inbox หรือ timeline ได้เสมอค่ะ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น